ครบเครื่องเรื่องเปียโน
เลือกเปียโนมือสองอย่างไร
เมื่อเอ่ยถึงเปียโนในอดีต คนทั่วไปมักจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว บ้างนึกภาพไปถึงน้องหญิงพจมานแห่งบ้านทรายทอง แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว คุณหนูเชอรี่หรือน้องลำไยก็มีสิทธิ์นะครับ...ครั้งหนึ่งเปียโนเคยอยู่ในราชสำนัก เมื่อโลกหมุนไม่ยั้งเปียนโนก็เช่นกันเคลื่อนตัวผ่านแวดวงไฮโซจนมาถึงสามัญชนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ดังจะเห็นว่าวันเสาร์อาทิตย์จะมีผู้ปกครองโดยเฉพาะคุณแม่จะพาลูกไปเรียนเปียนโนตามศูนย์การค้า ส่วนตัวเองออกไปเดินช๊อบสบายใจเฉิบหนึ่งชั่วโมงเต็ม แล้วกลับมารับลูก แต่อย่างว่าความสุขนั้นไม่อยู่กับเราตลอดไป เพราะไม่วันใดวันหนึ่งลูกจะบอกกับคุณว่า หนูอยากได้เปียโน หากคุณซื้อของใหม่ให้ลูกความกังวลใจจะไม่รบกวนคุณมาก แต่ถ้าคุณเลือกซื้อเปียโนเก่าละก้อ คำถามจะตามมามาก จะค้นจากตำราก็หายาก ด้วยเหตุนี้ผมจึงอยากจะบอกเล่าเคล็ดเล็ก ๆ น้อยในการเลือกเปียโนมือสอง เฉพาะมือใหม่หัดขับนะครับ สำหรับข้อสงสัยนอกเหนือจากนี้ผมยินดีจะตอบถ้าผมรู้ แต่ถ้าไม่รู้ผมจะถามผู้รู้ให้ไม่มีการมั่วนิ่ม ดีไม่ดีท่านผู้อ่านที่รอบรู้เรื่องเปียโนทนไม่ไหวอาจจะช่วยชี้แนะเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อแวดวงคนรักเปียโนยิ่งขึ้น ..ถือว่าเป็นการปลุกกระแสก็แล้วกัน....
เอาละไหน ๆ ขัดใจคุณลูกไม่ได้ ลองมารู้จักเปียโนกันพอสังเขปกันเสียหน่อย เอาเฉพาะเมืองไทยว่ากันว่า เปียโนแทบเอเชียจะครองตลาด ที่เหลือเป็นเปียโนอเมริกาและยุโรป...ส่วนประเภทเปียนโนแบ่งเป็นgrand piano และ vertical piano สำหรับ vertical piano ยังแยกย่อยออกเป็น upright , console , และ spinet วันนี้ขอรวบลัดกล่าวถึงเฉพาะupright piano เพราะเป็นเปียนโนที่เราพบเห็นบ่อยในบ้านเรา ส่วนนอกเหนือจากนี้ว่ากันหลังไมค์แล้วกัน
เมื่อได้ข้อมูลพอสังเขป พวกเราะในฐานะผู้ร่วมชมรมคนรักเปียนโนพร้อมลุยแล้วยังครับ ถ้าพร้อมลุยเลย....สมมุติว่าเดินเข้าไปในร้านเปียนโน เจอะเจอเนื้อคู่วางอยู่ด้านหน้า อันดับแรกเราเริ่มดูจากโครงสร้างก่อนว่าเหลี่ยมมุมยังได้ฉากอยู่หรือฝาเปียโนปิดสนิทดีหรือไหม..
ถัดมาสังเกตุที่คีย์เปียโน ดูความสะอาด ระดับความสูงของคีย์และระยะห่างแต่ละคีย์เท่ากันหรือเปล่า ต่อไปกดคีย์ทุกตัว ฟังโทนเสียงว่าทุ้มแหลมมากน้อยอย่างไรและเพื่อทดสอบน้ำหนักแต่ละคีย์ เรื่องนี้ออกจะยากสักนิด ขอยึดหลักง่าย ๆ ว่าถ้ามันไม่หนักหน่วงหรือเบาหวิวก็ใช่ได้ ส่วนเรื่องน้ำเสียงถ้าฟังแล้วชอบก็ไม่ต้องแคร์รสนิยมผู้อื่น...แต่ช่วงกดคีย์คอยฟังว่ามีเสียงผิดปกติหรือไม่ ถ้าไม่มี เอาไปเลยหนึ่งดาว...
จากนั้นก้มต่ำลงมาดูด้านล่างสุดจะเห็นก้านทองเหลืองสามอัน คือ padle ทำหน้าที่ต่างกัน จำง่าย ๆ ถ้ากดด้วยปลายเท้าขวาเสียงจะยาวต่อเนื่องจนกว่าจะยกเท้าขึ้น ส่วนถ้าเหยียบทางซ้ายมือจะมีผลทำให้เสียงเบาลง ส่วนน้ำหนักขณะกดลองคะเนเอาเอง ถ้าไม่ผิดปกตินักก็เอาไปอีกหนึ่งดาว..เมื่อดูด้านหน้าจบก็ขอเขาดูด้านหลัง ถ้าคนขายยึดนโยบายโปร่งใสเขาจะต้องให้ดู ซึ่งเราก็ทำได้แค่ดูความเรียบร้อย เช่นมีรอยปริแยกระหว่างแผ่นไม้หรือเปล่า มีรอยกระแทกหนักมาก่อนไหม ถ้าเรียบร้อยดีเติมไปอีกหนึ่งดาว...
สำรวจเปียโนภายนอกฉบับย่อเสร็จแล้วก็มาดูภายใน เรื่องนี้ไม่ต้องเกรงใจคนขายเป็นสิทธ์ของผู้บริโภคอยู่แล้ว ..เริ่มจากความเรียบร้อยทั่วไป โดยเฉพาะรอยต่อของแผ่นไม้ด้านบน ถัดมาเล็กน้อยจะเห็นก้านเหล็กจำนวนมากโผล่มาเป็นแนวเรียงรายเรียกว่า tuning pin เจ้าก้านเหล็กเหล่านี้ทำหน้าที่ขึ้นสายให้ได้ระดับเสียงมาตรฐาน ความสำคัญอยู่ที่ว่ามันยังแน่นดีอยู่หรือไม่ ข้อนี้คุณต้องขอคำรับรองจากผู้ขายสถานเดียว โดยให้ระบุในสัญญาซื้อขาย ถ้าเปียโนไม่มีปัญหาร้อยทั้งร้อยผู้ขายจะยอมตามใจเราเงินปึกใหญ่ของเราแน่นอน..ถ้าข้อนี้ไร้ปัญหาให้ไปเลยสองดาว ..
ถัดจากนั้นจะเห็นชุด action ซึ่งเป็นกลไกในการทำงานของเปียนโน ถ้าไม่มีชุดนี้จะไม่ต่างไปจากรถยนต์ยกเครื่องออก เรื่องนี้ต้องทำใจเพราะเราไม่ใช่ช่าง แต่จะผ่านไปเฉย ๆ ก็กระไรอยู่ เราลองดูส่วนบนสุดจะเห็นฆ้อนเปียนโนทำหน้าที่เคาะสาย ดูซิว่าแนวเสมอกันไหม ระยะห่างเป็นอย่างไรเหมือนคนฟันสวยหรือคนฟันเก..ลงลึกไปอีกนิดลองแตะแล้วโยกเบา ๆ ทดสอบความแน่น ถ้าไม่โยกคอนเหมือนคนเหงือกเสื่อมนับว่าใช่ได้ เทใจเพิ่มไปเลยอีกหนึ่งดาว..
จากฆ้อนลดสายตามายังส่วนล่างของ action คราวนี้คงทำอะไรไม่ได้มาก ไม่เหมือนดูผักดูปลาคุณแม่บ้านคงพอเลือกได้เอง เอาเป็นว่าแค่ดูความเป็นระเบียบของแต่ละชิ้นส่วนน่าจะพอ แถมอีกสักนิดลองซุ่มจับดูบางชิ้นส่วนว่าแน่นดีอยู่หรือเปล่า ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยให้ดาวสุดท้ายไปเลย รวมแล้วเจ็ดดาวเต็ม
ผมว่าทดสอบแค่นี้น่าจะพอแล้ว ไม่ใช่อะไรหรอก คนขายเค้าค้อนจนตาเขียวแล้ว ยิ่งคุณบอกว่าขอคิดดูก่อนยังไม่ซื้อ ตาคนขายก็จะยิ่งเขียวขุ้นขึ้น แต่ถึงอย่างไรมันก็เป็นสิทธิ์ของคุณ...เอาละเคล็ดลับฉบับย่อที่บอกให้ถ้าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ลองไปใช่ดู ได้ผลประการใดบอกให้ฟังบ้างเพื่อจะเป็นประโยชน์กับคุณแม่ทั้งหลาย ผู้ปรารถนาจะให้สิ่งดีที่สุดสำหรับลูกของตน..สวัสดีครับ
บทความนี้ได้ลงในนิตยสารเปรียวฉบับเดือนกรกฎาคม 2549
เขียนโดย นิทัศน์ จันทาโภ